วันพุธที่ 17 ธันวาคม พ.ศ. 2557

ขั้นตอนการเขียนโปรแกรม


ขั้นตอนการเขียนโปรแกรมหรือพัฒนาโปรแกรม มีขั้นตอนโดยสังเขปดังนี้

             1. การวิเคราะห์ปัญหาและความต้องการ (Problem Analysis and Requirement Analysis)                                
             2.การกำหนดและคุณสมบัติของโปรแกรม (Specification)
              3. การออกแบบ (Design)
              4.การเขียนรหัสโปรแกรม (Coding)
              5.การคอมไพล์ (Compilation)
              6.การทดสอบการทำงานของโปรแกรม (Testing)
              7.การจัดทำเอกสาร (Documentation)
              8.การเชื่อมต่อ (Integration)                  
               9.การบำรุงรักษา (Maintenance)

ข้อตกลง ขั้นตอนทั้งหมดข้างต้นเป็นขั้นตอนสำหรับการพัฒนาโปรแกรมที่มีขนาดใหญ่ที่นำไปใช้จริง สำหรับการเรียนรู้การเขียนโปรแกรมเบื้องต้นของนักเรียน จะเรียนรู้เพียง 4 ขั้นตอนเท่านั้น ได้แก่ ขั้นวิเคราะห์ปัญหาและความต้องการ ขั้นการออกแบบ ขั้นการเขียนรหัสโปรแกรม และ ขั้นการทดสอบการทำงานของโปรแกรม

1.การวิเคราะห์ปัญหาและความต้องการ (Problem Analysis and Requirement Analysis)
            เป็นการแยกแยะรายละเอียดของปัญหาและความต้องการออกเป็นส่วนย่อยๆ ให้ครอบคลุมการทำงานของโปรแกรมที่ต้องการเขียนทั้งหมด เพื่อให้เห็นถึงองค์ประกอบ ความสัมพันธ์ ความต้องการ และแนวทางการแก้ปัญหาที่ถูกต้องอย่างครบถ้วน
2.การออกแบบ (Design)
            เป็นการออกแบบวิธีการแก้ปัญหา โดยการกำหนดขั้นตอน ทิศทาง รูปแบบการทำงานของโปรแกรม ผลลัพธ์ของโปรแกรม วิธีการประมวลผลและสูตรสมการต่างๆ การนำเข้าข้อมูล การกำหนดตัวแปรให้สอดคล้องกับข้อมูล การเลือกใช้โปรแกรมภาษา ทั้งนี้เพื่อให้การทำงานของโปรแกรมเป็นไปอย่างถูกต้อง และมีประสิทธิภาพมากที่สุด การออกแบบสามารถทำได้หลายวิธี แต่วิธีที่ได้รับความนิยมได้แก่ การเขียนขั้นตอนวิธี (Algorithms) การเขียนผังงาน (Flowcharts) และการเขียนรหัสลำลอง (Pseudo Code) 

3.การเขียนรหัสโปรแกรม (Coding)
            เป็นการเขียนรหัสโปรแกรมลงในโปรแกรมภาษาที่เลือกไว้ ตามวิธีการที่ได้ออกแบบไว้แล้ว โดยใช้คอมพิวเตอร์ที่ทำการติดตั้งโปรแกรมภาษาเอาไว้พร้อมที่จะทำการลงรหัสโปรแกรมและทดสอบความถูกต้องของโปรแกรม

4.การทดสอบการทำงานของโปรแกรม (Testing)
            เป็นการทดสอบผลการทำงานของโปรแกรมว่ามีความถูกต้องและมีประสิทธิภาพหรือไม่ การทดสอบทำได้โดยการป้อนค่าต่างๆ ตามที่โปรแกรมกำหนด แล้วสังเกตผลลัพธ์ที่ได้ หากพบว่าผลลัพธ์ไม่ถูกต้องก็ย้อนกลับไปแก้ไขรหัสโปรแกรม หากพบว่าไม่มีประสิทธิภาพ เช่น โปรแกรมทำงานช้า โปรแกรมไม่ครอบคลุมความต้องการก็อาจย้อนกลับไปแก้ไขรหัสโปรแกรมหรือออกแบบวิธีการแก้ปัญหาใหม่ สำหรับการทดสอบนั้นจะต้องป้อนทั้งข้อมูลด้านบวก (ข้อมูลที่โปรแกรมต้องการ) และข้อมูลด้านลบ (ข้อมูลที่โปรแกรมไม่ต้องการ)

ภาษาโปรแกรม
            ภาษาโปรแกรมแต่ละภาษาจะมีลักษณะหรือรูปแบบการเขียนที่คล้ายๆ กันและแตกต่างกัน การเลือกภาษาโปรแกรมหรือภาษาคอมพิวเตอร์เพื่อนำมาเขียนโปรแกรมนั้นขึ้นอยู่กับปัจจัยหลาย ๆ อย่าง เช่นนโยบายของบริษัทความเหมาะสมของโปรแกรมกับลักษณะงานที่จะถูกนำไปใช้การเข้ากันได้กับโปรแกรมอื่น ๆหรืออาจเป็นความถนัดของแต่ละคน ภาษาโปรแกรมที่มีแนวโน้มในการนำมาเขียนมักเป็นภาษาที่มีคนที่สามารถเขียนได้ทันที หรือหากมีความจำเป็นที่จะต้องเลือกใช้ภาษาอื่น เช่นต้องการเน้นประสิทธิภาพในการทำงานของโปรแกรม ก็อาจจำเป็นต้องหานักเขียนโปรแกรมขึ้นมาจำนวนหนึ่งซึ่งมีความรู้ความเข้าใจในภาษาโปรแกรมที่ต้องการ และต้องมีคอมไพเลอร์ที่รองรับภาษาเหล่านั้นด้วย
            ตัวอย่างโปรแกรมภาษาที่ได้รับความนิยมในปัจจุบัน เช่น C++,Visual C#, Visual Basic, Delphi, Java, Java Script, PHP, ASP, Flash Action Script, HTML, XML เป็นต้น


หมายเหตุ : สำหรับการเรียนรู้ของนักเรียน ครูกำหนดให้นักเรียนใช้โปรแกรมภาษา C# เป็นหลัก
                ภาษาซีชาร์ป (C# Programming Language) เป็นภาษาโปรแกรมเชิงวัตถุทำงานบนดอตเน็ตเฟรมเวิร์ก พัฒนาโดยบริษัทไมโครซอฟท์ ซึ่งมี Anders Hejlsberg เป็นหัวหน้าโครงการ โดยมีรากฐานมาจากภาษาซีพลัสพลัสและภาษาอื่นๆ (โดยเฉพาะภาษาเดลไฟและจาวา) โดยปัจจุบันภาษาซีซาร์ปเป็นภาษามาตรฐานรองรับโดย ECMA และ ISO

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น